การประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนปัจจัยความยั่งยืนของ กปน.

เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2566 เวลา 09.00 น. ณ อาคารอเนกประสงค์ สำนักงานใหญ่ การประปานครหลวง (กปน.) นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการ กปน. เป็นประธานเปิด “การประชุมเชิงปฏิบัติการ การทบทวนปัจจัยความยั่งยืนของ กปน. และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการประปาให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์กุลชุดา ดิษยกุล ผู้จัดการด้าน (ESG) สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) บริษัท บูโรเวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และคณะ เป็นผู้ดำเนินการประชุม

การประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ กปน. ทั้ง 9 กลุ่ม ได้แก่ 1.หน่วยงานเชิงนโยบายและผู้ถือหุ้นภาครัฐ 2.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเชิงภารกิจ 3.คู่ค้า 4.พันธมิตร 5.ลูกค้า 6.พนักงานและผู้ปฏิบัติงาน 7.ชุมชนและสังคม 8.สื่อมวลชน 9.นักเคลื่อนไหว/องค์กรอิสระ/ภาคประชาสังคม/นักวิชาการ จำนวน 45 หน่วยงาน เช่น สำนักนโยบายและแผน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัท ยูเอชเอ็ม จำกัด ชุมชนเคหะท่าทราย โรงเรียนชุมชนวัดเสด็จ ฯลฯ ได้ร่วมระบุ/ทบทวนพร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญปัจจัยความยั่งยืน (Material Topics) จำนวน 17 ประเด็น

โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ความสำคัญกับประเด็นความโปร่งใสและความซื่อสัตย์ มาเป็นอันดับแรก

  • การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
  • การพัฒนาความสามารถของบุคลากร
  • ประสิทธิภาพและความต่อเนื่องในการให้บริการ
  • คุณภาพน้ำประปา
  • ทรัพยากรน้ำและน้ำสูญเสีย
  • นวัตกรรมและดิจิทัล
  • การจัดการพลังงาน
  • ความร่วมมือและการประสานงานกับหน่วยงานอื่น
  • อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
  • ประสิทธิภาพของกระบวนการจัดการภายใน
  • น้ำทิ้งและของเสีย
  • การไม่เลือกปฏิบัติและโอกาสที่เท่าเทียม (ด้านสิทธิมนุษยชน)
  • สวัสดิการและความมั่นคง
  • การปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • ชุมชนท้องถิ่น
  • การเข้าถึงบริการและราคาที่ย่อมเยา ตามลำดับ

ทั้งนี้ กปน. จะนำปัจจัยยั่งยืนที่ได้รับการจัดลำดับความสำคัญ ไปเป็นปัจจัยนำเข้า (Input) สำหรับ การจัดทำ/ทบทวนแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ อันจะนำไปสู่การกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนขององค์กรต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ CSR