กปน. เร่งดำเนินการรื้อถอนแท่นน้ำประปาดื่มได้ทั่ว กทม. สนับสนุนการสร้างทัศนียภาพสวยงามให้คนกรุงเทพมหานคร

นายคมกฤช ทินกร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า ตามที่ สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (สจส.กทม.) ได้มีหนังสือขอให้ กปน. เร่งรัดดำเนินการรื้อถอนแท่นน้ำประปาดื่มได้และอุปกรณ์ประกอบทั้งหมด 387 จุด  ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 และจัดซ่อมคืนพื้นที่ทางเท้ากลับสู่สภาพเดิมภายใน 30 วัน โดย กปน. ต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในดำเนินการทั้งหมด และหากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด กทม. จะเป็นผู้ดำเนินการโดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจาก กปน. นั้น

กปน. ขอแจ้งว่า แท่นน้ำประปาดื่มได้และอุปกรณ์ประกอบทั้งหมดที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันจำนวน 387 จุด เป็นทรัพย์สินและอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทเอกชนที่เสนอเป็นผู้ดำเนินการจัดหาและดูแลรักษาแท่นน้ำดื่มฯ ดังกล่าว ซึ่งมีการลงนามความร่วมมือ ระหว่าง กทม. และ กปน. ตั้งแต่ปี 2547 โดยมีวัตถุประสงค์ในการคืนกำไรสู่สังคม ด้วยการมีส่วนร่วมในการดูแลความเป็นอยู่ที่ดี และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของชาว กทม. อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ กปน. ได้รับหนังสือแจ้งจาก สจส.กทม. แล้ว กปน. ได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัทเอกชนดังกล่าวทราบ โดยให้ประสานงานกับ สจส. กทม. เพื่อดำเนินการรื้อถอนแท่นน้ำดื่มฯ และอุปกรณ์ประกอบทั้งหมด โดยเบื้องต้นได้ทำการรื้อถอนแท่นน้ำดื่มฯ ในถนนพระรามที่ 1 แล้ว แต่เนื่องจากแท่นน้ำดื่มฯ ที่ต้องรื้อถอนมีจำนวนมาก ประกอบกับต้องมีการซ่อมผิวทางเท้าทุกแห่งหลังจากรื้อถอนด้วย จึงจะไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งหมดได้ภายในระยะเวลา 30 วัน แต่ กปน. มิได้นิ่งนอนใจ ได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ จัดทำแผนงานการรื้อถอนแท่นน้ำดื่มฯ ดังกล่าว โดยให้ระบุเวลาแล้วเสร็จที่แน่นอน และให้เร่งประสานงานในรายละเอียดกับ กทม. โดยด่วน

ทั้งนี้ แท่นน้ำดื่มฯ ในบริเวณถนนพระรามที่ 1 ตั้งแต่สี่แยกราชประสงค์ถึงสี่แยกปทุมวัน ได้ถูกรื้อถอนพร้อมคืนผิวทางเท้าให้ กทม. เรียบร้อยแล้ว เพื่องานปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณดังกล่าวของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร โดยยังคงเหลือแท่นน้ำดื่มที่รอการรื้อถอนจำนวน 380 จุด ซึ่ง กปน. จะติดตามอย่างใกล้ชิดให้บริษัทฯ เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยด่วนที่สุดตามเจตจำนงของกรุงเทพมหานคร เพื่อสนับสนุนการสร้างทัศนียภาพสวยงามให้ชาวกรุงเทพมหานครและแขกผู้มาเยือนอย่างยั่งยืน

ข่าวประชาสัมพันธ์ CSR