กปน. คว้า 3 รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ปี 2566 มุ่งพัฒนาองค์กรในทุกมิติ สู่การเสริมสร้างเสถียรภาพการให้บริการน้ำประปาในเขตเมืองอย่างยั่งยืน
“กปน. คว้า 3 รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ปี 2566 มุ่งพัฒนาองค์กรในทุกมิติ สู่การเสริมสร้างเสถียรภาพการให้บริการน้ำประปาในเขตเมืองอย่างยั่งยืน”
เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) และนางสาวฉวีวรรณ อุทัยพิบูลย์ รองผู้ว่าการ กปน. รับ 3 รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Award) ประจำปี 2566 ได้แก่ รางวัลพัฒนาองค์กรดีเด่น รางวัลการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น จากโครงการ “โครงการปฏิบัติการผลักดันน้ำเค็มจากแม่น้ำเจ้าพระยา (Water Hammer Flow Operation in Chao Praya River)” และรางวัลชมเชย ประเภทรางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ จากผลงานระบบสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำสูญเสียเชิงรุก : ACTIVE LEAKAGE CONTROL ASSISTANT SYSTEM – ALCAS ซึ่งจัดโดย สำนักงาคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง ภายใต้แนวคิด “รัฐวิสาหกิจสร้างสรรค์พลังไทยสู่สากล ENHANCING THAINESS TOWARDS GLOBAL OPPORTUNITIES” โดยมี นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานมอบรางวัล ในการนี้ นายสุเทพ เอื้อปกรณ์ รองผู้ว่าการ กปน. และคณะผู้บริหาร กปน. ร่วมแสดงความยินดี
ผู้ว่าการ กปน. กล่าวว่า ผู้บริหารและพนักงาน กปน. ทุกคน มุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาการทำงานด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและให้บริการน้ำประปาลูกค้ากว่า 12 ล้านคน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ให้ได้รับการบริการที่ดีมีคุณภาพ และก้าวต่อไปเราจะขยายการให้บริการดูแลระบบประปาภายในบ้าน และสถานที่ใช้น้ำต่างๆ ให้ครอบคลุมทั่วถึงมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ทุกท่านมั่นใจว่าน้ำประปาภายในสถานที่ใช้น้ำของท่านมีคุณภาพดี สะอาด ปลอดภัย สามารถดื่มได้ เช่นเดียวกับคุณภาพน้ำประปาที่อยู่ในโรงงานผลิตน้ำทุกแห่งของ กปน. ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่ม และลดปริมาณขยะให้แก่โลกของเรา
สำหรับรางวัลที่ กปน. ได้รับในครั้งนี้ ประกอบด้วย
🏆รางวัลการพัฒนาองค์กรดีเด่น : ปรับปรุงการดำเนินงานที่สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายตามแผนวิสาหกิจองค์กร สู่การทบทวนระบบงาน (Work System) กระบวนการทำงาน (Work Process) โดยเพิ่มกระบวนการการตลาด การขายผลิตภัณฑ์ และบริการเชิงรุก พร้อมปรับปรุงโครงสร้างผังบริหารองค์กร กำหนดหน่วยงานและหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานอย่างชัดเจน พร้อมกันนี้ ยังมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ผ่านการจัดทำและวิเคราะห์สถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture) หรือการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลให้สอดคล้องกับกระบวนการการทำงาน ตลอดจนสนับสนุนวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์และทิศทางขององค์กร ตามแผนวิสาหกิจ กปน. ฉบับที่ 6 ในการมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่เติบโตจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ในการให้บริการงานประปาครบวงจร พร้อมทั้งยกระดับการให้บริการผ่าน Application MWA onMobile
🏆รางวัลการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น จากโครงการ “โครงการปฏิบัติการผลักดันน้ำเค็มจากแม่น้ำเจ้าพระยา (Water Hammer Flow Operation in Chao Praya River)” : กปน. ดำเนินโครงการ CSR in process ของกระบวนการผลิตน้ำ จากการนำนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาน้ำเค็ม (ANSAT-Anti Salinity Tools) โดยพยากรณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาแบบอัตโนมัติได้ล่วงหน้า 1-3 วัน และสามารถบอกช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลงบริเวณหน้าสถานีสูบน้ำดิบสำแลได้อย่างแม่นยำ ทำให้ช่วยกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสูบน้ำดิบที่มีค่าความเค็มไม่เกินเกณฑ์ควบคุมเข้ามาในคลองประปา เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตน้ำ และนวัตกรรมดังกล่าว ยังสามารถสร้างประโยชน์แก่ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม (Social Innovation) จากการลดผลกระทบจากน้ำประปาเค็มของลูกค้า กปน. จำนวน 8 ล้านราย หรือ 12 ล้านคน และลดผลกระทบต่อเกษตรกรบริเวณคลองที่อยู่ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีที่ต้องการนำน้ำไปใช้เพื่อการเกษตร
🏆รางวัลชมเชย ประเภทรางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ จากโครงการ “ระบบสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำสูญเสียเชิงรุก : ACTIVE LEAKAGE CONTROL ASSISTANT SYSTEM – ALCAS” : การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการสำรวจหาท่อแตก-รั่ว ระบบสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำสูญเสียเชิงรุก (ALCAS) โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำการคัดเลือกพื้นที่ภายใต้เงื่อนไขที่มีมาตรฐานและมีความหลากหลาย ส่งผลให้การลงพื้นที่ทำกิจกรรมของเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างแม่นยำ ครอบคลุม และครบถ้วน เพิ่มโอกาสในการบริหารจัดการน้ำสูญเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดระยะเวลาของกิจกรรมเชิงรุกสำหรับการสำรวจหาท่อแตก-รั่ว ในขั้นตอนของการจัดเตรียมข้อมูล จัดทำข้อมูลและคัดเลือกพื้นที่ของเจ้าหน้าที่จาก 1-2 วัน เป็นการดำเนินงานแต่ละขั้นตอน ไม่ถึง 1 ชั่วโมง และส่งผลต่อโอกาสในการลดปริมาณน้ำสูญเสียในระบบท่อจ่ายน้ำและท่อบริการ