จริยธรรมการดำเนินงานของ กปน. 

จริยธรรมการดำเนินงานของ กปน. 

   

หมายถึง การกำหนดแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนที่ดี ถูกต้องตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงานหรือในการดำเนินธุรกิจของการประปานครหลวง รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมภาพลักษณ์ของการประปานครหลวงได้รับการยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้เพื่อให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ ผู้ว่าการ ผู้บริหารทุกระดับ และพนักงานของการประปานครหลวง บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่การประปานครหลวงว่าจ้างมาเพื่อปฏิบัติงาน ทั้งในกรณีของการจ้างบุคคลเพื่อเป็นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ปฏิบัติงานในสาขาวิชาที่มีลักษณะเฉพาะ รวมทั้งการจ้างบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจ ของการประปานครหลวง หรือเป็นการจ้างเพื่อปฏิบัติงานสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารกิจการ ของการประปานครหลวง การตัดสินใจเชิงนโยบาย หรือมีผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงการเชิญบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อเป็นที่ปรึกษาของการประปานครหลวงในภารกิจสำคัญดังกล่าว ยึดถือปฏิบัติภายใต้ กรอบคุณธรรมและจริยธรรม โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้      

  • มาตรฐานจริยธรรมของคณะกรรมการ การประปานครหลวง
  • ข้อบังคับการประปานครหลวง ว่าด้วย ประมวลจริยธรรมสำหรับผู้บริหารและพนักงานการประปานครหลวง พ.ศ. 2566 

ประมวลจริยธรรมการดำเนินงานของการประปานครหลวง


ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 76 วรรคสาม บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้น ๆ ซึ่งไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว และพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 5 ได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อใช้เป็นหลักสำคัญในการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานรัฐ

โดยให้มีกลไกและระบบในการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการลงโทษ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว คณะกรรมการการประปานครหลวง จึงกำหนดให้มีประมวลจริยธรรมการดำเนินงานการประปานครหลวง ตามข้อบังคับการประปานครหลวง ว่าด้วย ประมวลจริยธรรมสำหรับผู้บริหารและพนักงานการประปานครหลวง พ.ศ. 2566 ประกาศ ณ วันที่ 24 มีนาคม 2566 และได้กำหนดให้มีการเผยแพร่ให้ทราบทั่วกัน

หมวด 1 บททั่วไป


กล่าวถึงข้อบังคับการประปานครหลวง ว่าด้วย ประมวลจริยธรรมสำหรับผู้บริหารและพนักงานการประปา นครหลวง พ.ศ. 2566 ประกาศ ณ วันที่ 24 มีนาคม 2566 โดยให้ผู้ว่าการการประปานครหลวง มีอำนาจวางระเบียบ คำสั่ง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้ และอธิบายถึงผู้ที่ต้องปฏิบัติตน ให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมดังกล่าว และได้ให้คำจำกัดความของ “ผู้บริหารและพนักงานการประปานครหลวง” หมายความถึง กรรมการ ผู้ว่าการ พนักงาน และลูกจ้างของการประปานครหลวง และให้ความความรวมถึงผู้ปฏิบัติงานอื่นในการประปานครหลวงด้วย

หมวด 2 มาตรฐานจริยธรรม


กล่าวถึงมาตรฐานทางจริยธรรมที่ผู้บริหารและพนักงานการประปานครหลวงพึงปฏิบัติตน เพื่อรักษาจริยธรรม ประกอบด้วย 7 ประการ ดังนี้

(1) ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยการส่งเสริม สนับสนุน และพิทักษ์รักษา สถาบันหลักของประเทศ การรักษาผลประโยชน์และชื่อเสียงของประเทศชาติ การปฏิบัติตามหลักศาสนา และการเทิดทูนรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายและไม่แสดงการต่อต้านหรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันหลักของประเทศ

(2) ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่ ด้วยการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ตามกฎหมายและตามทำนองคลองธรรม มีจิตสำนึกที่ดีโดยมีความสุจริตใจเป็นที่ตั้ง พร้อมรับการตรวจสอบและผลจากการกระทำของตน รวมทั้งคำนึงถึงจริยธรรมในบริบทที่เป็นสากล ในเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และจรรยาบรรณวิชาชีพ

(3) กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม ด้วยการกล้าตัดสินใจและยกย่องผู้ที่ทำ ในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม และกล้าแสดงความคิดเห็น คัดค้าน หรือเสนอให้มีการลงโทษผู้ที่ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งไม่ยอมกระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมเพียงเพื่อรักษาผลประโยชน์หรือสถานภาพของตนเอง

(4) คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะด้วยการตระหนัก ถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง มีความเสียสละ และมีจิตสาธารณะในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

(5) มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน ด้วยการรับผิดชอบ มุ่งมั่น อุทิศตน ปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ บทบาทและภารกิจของรัฐวิสาหกิจความคาดหวังของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้รับบริการและประชาชน อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคิดถึงประโยชน์และความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรของรัฐ รวมทั้งคำนึงถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมการทำงานของผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจ

(6) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม ปราศจากอคติและไม่เลือกปฏิบัติโดยการใช้ความรู้สึกหรือความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือเหตุผลของความแตกต่าง เช่น เชื้อชาติ ศาสนา เพศ อายุ สภาพร่างกาย สถานะทางเศรษฐกิจสังคม ฯลฯ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเต็มใจ ใส่ใจ เคารพในศักดิ์ศรี และปฏิบัติต่อทุกคนอย่างให้เกียรติ

(7) ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการด้วยการดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต รักษาเกียรติศักดิ์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐและปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีด้วยการเคารพกฎหมายและมีวินัย รวมทั้งรักษาชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของทางราชการโดยรวม

หมวด 3 กลไกและระบบการบังคับใช้ประมวลจริยธรรม


ประกอบด้วยเนื้อหา 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 กลไกและระบบการบังคับใช้ประมวลจริยธรรม สำหรับผู้ว่าการ พนักงาน และลูกจ้างของการประปานครหลวง

กำหนดให้ผู้ว่าการและพนักงานต้องประพฤติปฏิบัติและวางตนอยู่ในกรอบประมวลจริยธรรมนี้อย่างเคร่งครัด ตลอดจนเป็นแบบอย่างที่ดีควรแก่การยกย่องให้เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้รับบริการ ผู้ใช้น้ำ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ของการประปานครหลวง ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าการกำกับดูแลการประพฤติปฏิบัติของพนักงานให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมนี้

กรณีมีการร้องเรียนควรดำเนินการ ดังนี้

กรณีที่ 1 การร้องเรียนหรือปรากฏเหตุว่ามีพนักงานประพฤติปฏิบัติฝ่าฝืนประมวลจริยธรรม ให้ผู้ว่าการหรือผู้ที่ผู้ว่าการมอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการ

กรณีที่ 2 การร้องเรียนหรือปรากฏว่าผู้ว่าการประพฤติปฏิบัติฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมให้ประธานกรรมการเป็นผู้รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการ  

ทั้งนี้ การดำเนินการทางจริยธรรม ให้นำแนวทางและวิธีการสอบสวนตามระเบียบการประปานครหลวง ฉบับที่ 25 ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนทางวินัย พ.ศ. 2544 และข้อบังคับการประปานครหลวง ฉบับที่ 115 ว่าด้วย การบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2543 มาบังคับใช้โดยอนุโลม      

ส่วนที่ 2 กลไกและระบบการบังคับใช้ประมวลจริยธรรม สำหรับกรรมการและผู้ปฏิบัติงานอื่นในการประปานครหลวง  

กรณีมีการร้องเรียนหรือปรากฎเหตุว่ามีกรรมการหรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในการประปานครหลวงประพฤติปฏิบัติฝ่าฝืนประมวลจริยธรรม ให้ดำเนินการตามแนวทางการบังคับใช้ประมวลจริยธรรม ให้ครอบคลุมถึงคณะกรรมการ ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน โดยอนุโลม

หมวด 4 ขั้นตอนการลงโทษ


ประกอบด้วยเนื้อหา 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 ขั้นตอนการลงโทษสำหรับผู้ว่าการ พนักงาน และลูกจ้างของการประปานครหลวง

การประพฤติปฏิบัติที่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมจะถือเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาจากพฤติกรรมของการฝ่าฝืน ความจงใจ หรือเจตนา มูลเหตุจูงใจ ความสำคัญและระดับตำแหน่ง ตลอดจนหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ฝ่าฝืน อายุ ประวัติ และความประพฤติในอดีต สภาพแวดล้อมแห่งกรณี ผลร้ายอันเกิดจากการฝ่าฝืน และเหตุอื่นอันควรนำมาประกอบการพิจารณา

เมื่อมีการดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแล้ว หากปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม หากเป็นความผิดทางอาญา ให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นความผิดทางวินัยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การดำเนินการทางวินัยของการประปานครหลวง

ในกรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม แต่มิได้เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงหรือความผิดทางอาญา ให้ผู้ว่าการหรือผู้บังคับบัญชาว่ากล่าวตักเตือน หรือสั่งให้ ผู้นั้นได้รับการพัฒนาทางด้านจริยธรรมตามหลักเกณฑ์ที่การประปานครหลวงกำหนด  

ส่วนที่ 2 ขั้นตอนการลงโทษสำหรับกรรมการและผู้ปฏิบัติงานอื่นในการประปานครหลวง  

การดำเนินการลงโทษกรณีกรรมการหรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในการประปานครหลวงประพฤติปฏิบัติฝ่าฝืนประมวลจริยธรรม ให้ดำเนินการตามแนวทางการบังคับใช้ประมวลจริยธรรมให้ครอบคลุมถึงคณะกรรมการ ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน โดยอนุโลม